วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2562

ข้อมูลพื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม


ข้อมูลพื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
การศึกษาทำหน้าที่สำคัญคือ  อนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรมของสังคมไปสู่คนรุ่นหลังและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสังคมให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆโดยหน้าที่ดังกล่าวการศึกษาจะช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่พึงปรารถนา เพราะฉะนั้นหลักสูตรที่จะนำไปสอนอนุชนเหล่านั้นจึงต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมอย่างแยกไม่ออกดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการใหม่ผลการวิเคราะห์ออกมาอย่างไรหลักสูตรก็จะเปลี่ยนจุดหมายไปในแนวนั้นสามารถจำแนกข้อมูลให้เห็นชัดเจนได้ดังนี้
1.1 โครงสร้างทางสังคม  โครงสร้างสังคมไทยแบ่งออกเป็น 2   ลักษณะคือ  ลักษณะสังคมชนบทหรือสังคมเกษตรกรรมและสังคมเมืองหรือสังคมอุตสาหกรรมในปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีมากดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นจะต้องศึกษาโครงสร้างทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและแนวโน้มโครงสร้างสังคมในอนาคตเพื่อที่จะได้ข้อมูลมาจัดการหลักสูตรว่าจะจัดหลักสูตรอย่างไรเพื่อยกระดับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมและเตรียมพื้นฐานเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมตามความจำเป็น
1.2 ค่านิยมในสังคม ค่านิยมหมายถึงสิ่งที่คนในสังคมเดียวกันมองเห็นว่ามีคุณค่าเป็นที่ยอมรับหรือเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไปในสังคมนั้นๆดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรจึงจำเป็นต้องศึกษาค่านิยมต่างๆในสังคมไทย   หน้าที่ของนักพัฒนาหลักสูตรที่จะศึกษาและเลือกค่านิยมที่ดีและสอดแทรกไว้ในหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังและสร้างค่านิยมที่ดีในสังคมไทย
1.3 ธรรมชาติของคนในสังคม จากสภาพวัฒนธรรมและค่านิยมของสังคมไทยทำไห้คนไทยส่วนใหญ่มีลักษณะบุคลิกภาพดังต่อไปนี้
- ยึดมั่นในตัวบุคคลมากกว่าหลักการและเหตุผล
- ยกย่องบุคคลที่มีความรู้หรือได้รับการศึกษาสูง
- เคารพและคล้อยตามผู้มีวัยวุฒิสูง
- ยกย่องผู้มีเงินและผู้มีอำนาจ
- รักความอิสระและชอบทำงานตามลำพัง
- เชื่อโชคลางทางไสยศาสตร์
- นิยมการเล่นพรรคเล่นพวก
- มีลักษณะเฉื่อยชาไม่กระตือรือร้น ฯลฯ
ในการพัฒนาหลักสูตรควรคำนึงถึงลักษณะธรรมชาติ บุคลิกภาพของคนในสังคม โดยศึกษาพิจารณาว่าลักษณะใดควรจะคงไว้ ลักษณะใดควรจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ พึงประสงค์ของสภาพสังคมปัจจุบัน  เพื่อที่จะจัดการศึกษาในอันที่จะสร้างบุคลิกลักษณะของคนในสังคมตามที่สังคมต้องการ เพราะหลักสูตรเป็นแนวทางในการสร้างลักษณะสังคมในอนาคต
1.4 การชี้นำสังคมในอนาคต  การศึกษาควรมีบทบาทในการชี้นำสังคมในอนาคตด้วยเพราะในอดีตที่ผ่านมาระบบการศึกษา  และระบบพัฒนาหลักสูตรของไทยเป็นลักษณะของการตั้งรับมาโดยตลอด  เช่นการตั้งรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆเช่น กระแสความเจริญของประเทศทางตะวันตก   กระแสวิชาการตะวันตก   ความต้องการและปัญหาของสังคม   จึงทำให้การศึกษาเป็นตัวตาม  เป็นเครื่องมือที่คอยพัฒนาตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ฉะนั้นการจักการศึกษาที่ดีควรใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศในอนาคตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
1.5 ลักษณะสังคมตามความคาดหวัง การเตรียมพัฒนาทรัพยากรให้มีคุณภาพ มีคุณลักษณะ หรือคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นเป็นเรื่องไม่คงที่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพในการดำรงชีวิต  จรรโลงสภาพสังคมในอนาคตให้ดีขึ้น ลักษะประชากรที่มีคุณภาพดีมีดังนี้
- มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตดี
- มีอาชีพเพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว ทำประโยชน์แก่ครอบครัว
- เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม  เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ
- มีสติปัญญา หมั่นเสริมสร้างความรู้ความคิดอยู่เสมอ
- มีนิสัยรักการทำงาน ขยัน อดทน ประหยัด ซื่อสัตย์ภักดี
- มีมนุษยสัมพันธ์ และมีมนุษยธรรม
1.6 ศาสนาและวัฒนธรรมในสังคม  ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่บรรจุไว้ในหลักสูตรควรเป็นหลักธรรมในศาสนาต่างๆและควรเปรียบเทียบหลักธรรมของศาสนาเหล่านั้นเพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบว่าทุกศาสนามีเป้าหมายสูงสุดร่วมกัน  คือสอนให้คนเป็นคนดีเพื่อความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันในสังคม  ส่วนด้านวัฒนธรรมนั้นปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะวิทยาการต่าง ๆเจริญก้าวหน้ามาก ในการพัฒนาหลักสูตรจึงต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม  การศึกษาข้อมูลขั้นพื้นฐานทางสังคมอย่างรอบคอบจะทำให้เราสามารถนำไปพัฒนาหลักสูตรที่ดีตามลักษณะดังต่อไปนี้
- สนองความต้องการของสังคม
- สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม
- เน้นในเรื่องรักชาติรักประชาชน
- แก้ปัญหาให้สังคม มิใช่สร้างปัญหาให้สังคม
- ปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น
- สร้างความสำนึกในเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางสังคม
- ชี้นำในเรื่องการเปลี่ยนแปลงประเพณีและค่านิยม
- ต้องถ่ายทอดวัฒนธรรมและจริยธรรม
- ปลูกฝังในเรื่องความซื่อสัตย์และความยุติธรรมในสังคม
- ให้ความสำคัญในเรื่องผลประโยชน์ในสังคม


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น