แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตร
นักการศึกษาหลายท่าน
ได้อธิบายความหมายของการพัฒนาหลักสูตร ไว้คล้ายคลึงกันซึ่งสรุปได้ว่า
การพัฒนาหลักสูตรมีความหมายใน 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 เป็นการทำหลักสูตร
ที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น และลักษณะที่ 2 เป็นการจัดทำหลักสูตรขึ้นมาใหม่
โดยไม่มีหลักสูตรเดิมอยู่ก่อน (Sowell. 1996 : 16)
จากความหมายดังกล่าว
พบว่า การพัฒนาหลักสูตรนั้น มีความหมายที่ครอบคลุมในหลายมิติตั้งแต่ การวางแผนหลักสูตร
จัดทำหลักสูตรหรือยกร่างหลักสูตร (Curriculum planning)
การนำหลักสูตรไปใช้หรือการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ (Curriculum
implementation) และการประเมินผลหลักสูตร (Curriculum
evaluation) การพัฒนาหลักสูตรให้ดีและมีคุณภาพนั้น
ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในแต่ละมิติว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
ปรัชญาทางการศึกษา
ปรัชญา คือ
แนวความเชื่อของมนุษย์ที่มีต่อสรรพสิ่งต่างๆในโลกของเรานี้ว่า
ความจริงที่แท้จริงของสิ่งต่างๆนั้น คืออะไร และต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร
แนวความเชื่อดังกล่าวมีหลากหลายความคิดแต่ที่เป็นที่ยอมรับตามหลักสากลทั่วไปนั้น
มี 5 สาขา คือ
1.
ปรัชญาสารัตถนิยม ปรัชญานี้มีความเชื่อว่าในแต่ละวัฒนธรรม มีความรู้ทักษะความเชื่อ
เจตคติ อุดมการณ์ ที่เป็นแกนกลางหรือเป็นหลัก
ทุกคนในวัฒนธรรมนั้นจะต้องรู้สิ่งเหล่านี้
และระบบการศึกษาจะมุ่งถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้แก่เยาวชน
จากความเชื่อดังกล่าว
ระบบการศึกษา ควรเน้นหนักในการศึกษาความรู้และวัฒนธรรม
เมื่อเป็นเช่นนี้ปรัชญาสารัตถนิยมจึงเน้นความไม่เปลี่ยนแปลงเพราะถือว่า ความรู้
ความจริง และวัฒนธรรมของสังคมนั้น ได้รับการเลือกสรรแล้วอย่างเหมาะสม
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ลัทธินี้มีความเชื่อในแนวทางที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์และถ่ายทอดวัฒนธรรม
2.
ปรัชญานิรันตรนิยม ปรัชญานิรันตรนิยมนี้เริ่มโดย
อริสโตเติ้ลและบาทหลวงโทมัสอาคีนัสเป็นผู้นำมาดัดแปลง
ทั้งสองท่านได้ปูพื้นฐานของปรัชญานี้ไว้อย่างมั่นคง
ความคิดและหลักการที่ท่านได้กำหนดไว้ยังคงดำรงอยู่เรื่อยมาไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ตั้งแต่สมัยยุคกลาง (Middle age) คำว่า Perennial
ก็แปลว่า “ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา”
ปรัชญานี้มีความเชื่อว่า
ธรรมชาติ ของมนุษย์นั้นเหมือนกันทุกแห่ง สาระสำคัญในธรรมชาติของมนุษย์คือ
ความสามารถในการใช้ความคิด ใช้เหตุผล การจัดการศึกษาจึงเน้นการพัฒนาทางด้านสติปัญญาและการใช้เหตุผล
เนื้อหาสาระของสิ่งที่เรียน จึงเกี่ยวข้องกับความคิดและเหตุผล
3.
ปรัชญาพิพัฒนาการ ปรัชญาการศึกษานี้ ก่อตั้งในศตวรรษที่ 20 (1920) ในสหรัฐอเมริกา
ปรัชญานี้มีความเชื่อว่า สาระสำคัญและความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายนั้น
มิได้คงที่หรือหยุดนิ่ง หากจะเปลี่ยนสภาพไปตามเวลาและสิ่งแวดล้อม
และในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษานั้นลัทธินี้เชื่อว่า
การศึกษาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมก็ควรจะเปลี่ยนสภาพไปด้วยเมื่อถึงคราวจำเป็น
ฉะนั้นวิธีการทางการศึกษาจึงต้องพยายามปรับปรุงให้สอดคล้องกับกาลเวลาและสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ
การศึกษามิใช่จะสอนให้คนยึดมั่นในความจริง ความรู้
และค่านิยมที่คงที่หรือถูกกำหนดไว้ตายตัว
4.
ปรัชญาปฏิรูปนิยม นักการศึกษาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของ ปรัชญาปฏิรูปนิยม
คือ เทียวเดอร์ เบรมเมล (Theodore Brarneld) ชาวสหรัฐอเมริกา
เขาได้รับเสนอแนวคิดรายละเอียดในการจัดการศึกษาตามแนวนี้ ในปี ค.ศ. 1950
ปรัชญานี้พัฒนาจากปรัชญาปฏิบัตินิยม
(Pragmatism)
ที่เน้นหนักการแก้ไขปรับปรุงสภาพสังคม
โดยอาศัยการศึกษาผนวกกับปรัชญาพิพัฒนาการที่เน้นพัฒนาผู้เรียนไปตามต้องการความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก
จากสองปรัชญาดังกล่าวทำให้เกิดปรัชญาปฏิรูปนิยม ที่เชื่อว่า
การศึกษาควรเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการปฏิรูปสังคม
5.
ปรัชญาอัตถิภาวนิยม ปรัชญานี้มีความเชื่อว่า
มนุษย์ต้องมีเสรีภาพที่จะเลือกในแนวทางที่ตนปรารถนา
แต่ก็มีกติกาการเลือกอยู่ว่าต้องเลือกในสิ่งที่ดีสำหรับตนเอง
และดีสำหรับคนอื่นด้วยและเมื่อเลือกแล้วจะต้องมีความรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น